วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

 เรื่องที่ 7  ความรุ่นแรงในครอบครัว



แพทย์หญิงเบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์กรมสุขภาพจิต ได้นิยามความหมาย "ความรุนแรง" ไว้ว่า "ความรุนแรง Violence หมายถึง การที่บุคคลใช้กำลังทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ การทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น หรือการข่มขู่ว่าจะทำร้ายให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือข่มขู่ว่าจะทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น รวมทั้งการใช้กำลังบังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวและรุกรานสิทธิหรือเสรีภาพส่วนบุคคล โดยคำนิยามข้างต้น ความรุนแรงในครอบครัวจะเกิดใน 2 ลักษณะ คือ ความรุนแรงที่กระทำโดยผู้ใหญ่ ได้แก่ การทำร้ายเด็ก การทำร้ายคู่สมรสและการทำร้ายผู้สูงอายุ กับ ความรุนแรงที่เด็กเป็นผู้กระทำ ได้แก่ การทำร้ายพี่น้อง และการทำร้ายพ่อแม่ ส่วนรูปแบบของความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ การทารุณทางกาย การทารุณทางจิตใจ และการทารุณทางเพศ ซึ่งแสดงออกในลักษณะข่มขู่ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ข้าวปลาอาหาร หรือละเมิดทางเพศ อีกลักษณะหนึ่งคือ การปล่อยปละละเลย ไม่ให้การดูแลเอาใจใส่เด็กในด้านปัจจัยสี่และการดูแลยามเจ็บป่วยทำให้เด็กขาดอาหารไม่เจริญเติบโตตามเกณฑ์ปกติ ไม่ให้ความรักไม่ตอบสนองความต้องการด้านจิตใจของเด็ก หรือไม่ปกป้องคุ้มครองให้เด็กปลอดภัย รวมถึงสนับสนุนให้เด็กเป็นโสเภณี เป็นต้น"จาก

การกระทำรุนแรงต่อครอบครัว และการแทรกแซงจากเพื่อนบ้าน

        ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) คือลักษณะการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ และทำร้ายจิตใจ ระหว่างสมาชิกที่มีความสัมพันธ์ฉันท์ครอบครัวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น สามี ภรรยา บุตร หรือญาติผู้ใหญ่ โดยความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากการทำร้ายมีหลายกรณี เช่น สามีทำร้ายภรรยา ผู้หญิงถูกทำร้ายจากคู่รักของตนเอง บิดาหรือมารดาทำร้ายบุตร ผู้ที่แข็งแรงกว่าทำร้ายบุพการีที่มีความชราภาพหรือญาติผู้ใหญ่ที่มีความอ่อนแอทางสรีระรวมทั้งผู้ที่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจสังคม โดยภรรยาที่ทำร้ายสามีนั้นมีเพียงส่วนน้อย
        การกระทำรุนแรงในครอบครัวพบเห็นอยู่ทั่วไปในสังคมไทย จากรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปี 2548 ของมูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่า มีผู้มาขอรับคำปรึกษาในแทบทุกกลุ่มอาชีพ และมีทุกระดับการศึกษา โดยมีข่าวการกระทำรุนแรงในครอบครัวปรากฏตามสื่อมวลชนเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 22 (มูลนิธิเพื่อนหญิง, 2548) แสดงว่าปัญหานี้มีการขยายตัวมากขึ้น
        ที่สำคัญก็คือสิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในความเป็นจริงมีการกระทำรุนแรงมากกว่าที่ปรากฏเป็นข่าวหลายเท่า เพียงแต่คนที่ถูกกระทำไม่อยากเป็นข่าว เพราะการเป็นข่าวอาจหมายถึงการต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต รวมทั้งต้องหวาดระแวงและวิตกกังวลกับการถูกกล่าวขวัญและตอกย้ำจากสังคม (มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง, 2547) และผู้หญิงที่ต้องรับสภาพความรุนแรงจากสามีหรือคนรักมักถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาในครอบครัว ซึ่งผู้พิทักษ์กฎหมายมักไกล่เกลี่ยให้คู่สมรสปรองดองกันมากกว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมาย (วนานันท์ แสงอาทิตย์, 2548) จนกล่าวได้ว่าการทำร้ายกันในครอบครัวเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็น เป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้หลังคาบ้านที่คนทั่วไปเข้าใจว่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด จึงทำให้อาชญากรรมประเภทนี้ยากแก่การป้องกันมากที่สุด ทั้งนี้เพราะผู้กระทำส่วนใหญ่คือสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นการระมัดระวังหรือการป้องกันตนเองจึงเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม เป็นผลให้โอกาสในการกระทำรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็น “ปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรม” (รณชัย คงสกนธ์, 2549)
        ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นก็คือ ปัญหาสังคมกึ่งอาชญากรรมนี้จะลดลงได้หากมีเพื่อนบ้านคอยสอดส่อง ช่วยเหลือ และยับยั้ง เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้ ๆ บ้านของตน ดังนั้นความเป็นไปได้หรือไม่ได้ที่เพื่อนบ้านควรจะเข้าไปแทรกแซงครอบครัวอื่น เพื่อลดปัญหาการกระทำรุนแรงให้น้อยลง จึงเป็นประเด็นที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

        การจะพิจารณาว่าเพื่อนบ้านควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือไม่กับเรื่องการกระทำรุนแรงของครอบครัวบ้านใกล้เรือนเคียง อาจเริ่มพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับการกระทำรุนแรงในครอบครัวดังนี้
1. โครงสร้างทางสังคม สังคมไทยมีโครงสร้างเป็นระบบปิตาธิปไตย (patriarchy) หรือระบบความคิดแบบเน้นอำนาจของผู้ชาย ดังนั้นสังคมจึงมองว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง โดยบิดาจะเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีสิทธิปกครองครอบครัว รวมทั้งอาจใช้วิธีการที่รุนแรงเพื่อบังคับควบคุมครอบครัวให้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่กำหนด สิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย
2. ปัจจัยเสี่ยงของสถาบันและบริบทสังคมในระดับชุมชนใกล้ตัว มีปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง ได้แก่ สภาพบ้านเรือนตั้งอยู่โดดเดี่ยวห่างไกลครอบครัวอื่น เพื่อนบ้านยากจนที่ต้องปากกัดตีนถีบทำมาหาเลี้ยงชีพและไม่มีเวลาสนใจครอบครัวอื่น ค่านิยมในชุมชนที่มองสถานภาพของผู้หญิงที่ด้อยกว่าผู้ชาย และการอยู่โดดเดี่ยวของผู้หญิง ส่งผลให้โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงมีสูงกว่าในชุมชนที่ปราศจากปัญหาเหล่านี้
3. ความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างครอบครัว คนไทยมีวัฒนธรรมที่รักษาความเกรงใจ การให้เกียรติ และการเคารพในสิทธิของคนอื่น การรักษาความสัมพันธ์กันทางสังคมระหว่างครอบครัวด้วยกันนั้นหมายถึงการไม่แทรกแซงครอบครัวอื่น โดยเฉพาะการกระทำรุนแรงระหว่างคนในครอบครัวด้วยกันนั้นคนที่เป็นเพื่อนบ้านไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องภายใน
ครอบครัวใครของใครของมัน
4. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในบ้าน ได้แก่ ความเป็นใหญ่ของผู้ชายในบ้าน
โดยเฉพาะในการครอบครองทรัพย์สินและอำนาจในการจัดการค่าใช้จ่ายและเรื่องครอบครัวอื่น ๆ ทำให้บุคคลอื่นในบ้านเกรงกลัวและ ยอมรับอำนาจโดยดุษฎี
5. ปัจจัยในระดับบุคคล ข้อมูลที่ปรากฏยืนยันในความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตคู่ของผู้หญิงและผู้ชายว่า ผู้ชายมีแนวโน้มมากกว่าผู้หญิงที่จะเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อคู่ของตน โดยลักษณะส่วนบุคคลที่ผลักดันให้ก่อความรุนแรงคือคนที่มีประสบการณ์ความรุนแรงมาก่อนในวัยเด็ก การมีอาวุธในครอบครอง การดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด มีปัญหาความเครียดจากหน้าที่การงานในชีวิตประจำวัน และการสูญเสียสถานภาพ เช่น ตกงาน รวมถึงคนที่ขาดทักษะชีวิตในการระงับความโกรธ ระงับความขัดแย้ง และการรับมือกับความเครียด (กฤตยา อาชวนิจกุล และคณะ, 2546) ซึ่งเป็นธรรมดาที่บุคคลจะต้องเคยเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
        จาก 5 ปัจจัยที่มีสัมพันธ์กับการกระทำรุนแรงในครอบครัวดังที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงใน 4 ระดับคือ ระดับสังคม ชุมชน ครอบครัว และบุคคล โดยปัจจัยทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยง (Risk Factor) ที่นำไปสู่การกระทำรุนแรงในครอบครัวทั้งสิ้น
        ดังนั้นในประเด็นที่ว่า ปัญหาการกระทำรุนแรงในครอบครัวจะลดลงได้หากเพื่อนบ้านคอยสอดส่อง ช่วยเหลือ และยับยั้ง เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้ ๆ บ้านของตน และเพื่อนบ้านควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของครอบครัวคนอื่นเพื่อแทรกแซง (Intervention) ให้ปัญหาเบาบางลง จึงควรพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้คือ
1. โครงสร้างทางสังคมยอมรับถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง และยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นปัญหาที่นำไปสู่การกระทำรุนแรงในครอบครัวแล้วหรือยัง หากสังคมยังยอมรับผู้ชายเป็นใหญ่ และมองปัญหาความรุนแรงเป็นสิ่งธรรมดาในครอบครัว การแทรกแซงจากภายนอกครอบครัวก็ขาดการยอมรับ
2. ชุมชนและบริบททางสังคมมีปัจจัยสนับสนุน (Proactive Factor) ครอบครัวที่ถูกกระทำรุนแรงหรือไม่ เช่น ความเข้มแข็งของชุมชน การมีเครือข่ายทางสังคมของชุมชน คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีมาตรฐานทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อครอบครัวที่เป็นสมาชิกในชุมชน เพราะหากชุมชนไม่มีสิ่งเหล่านี้การที่เพื่อนบ้านจะเข้าไปแทรกแซงคงกระทำได้ยาก ยกเว้นเครือญาติเท่านั้น
3. เมื่อเข้าไปแทรกแซงครอบครัวอื่น จะกำหนดขอบเขตความเกรงใจ การให้เกียรติ การเคารพในสิทธิของคนอื่น และการมองว่าเรื่องภายในครอบครัวใครคนภายนอกไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวแค่ไหน ถึงจะสามารถรักษาระดับความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างครอบครัวเอาไว้ได้
4. ครอบครัวที่จะถูกแทรกแซงควรมีลักษณะอย่างไร หากครอบครัวนั้นผู้ชายเป็นใหญ่ในบ้านและมีอิทธิพลในการครอบครองทรัพย์สินและอำนาจในการจัดการค่าใช้จ่ายและเรื่องครอบครัวอื่น ๆ จนบุคคลที่อาศัยอยู่ภายในบ้านเกรงกลัวและยอมรับอำนาจ เขาจะยอมรับการแทรกแซงจากภายนอกครอบครัวหรือไม่
5. บุคคลภายนอกครอบครัวจะวิเคราะห์ได้หรือไม่ว่าผู้ที่กระทำรุนแรงต่อสมาชิกในครอบครัวมีลักษณะหรือปัจจัยพื้นฐานอย่างไร เช่น ปัจจัยทางชีวสังคม และปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา หากไม่ทราบปัจจัยดังกล่าวแล้วจะเข้าไปแทรกแซงได้อย่างถูกต้องอย่างไร
        จากข้อพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นคงพอเห็นคำตอบแล้วว่าความเป็นไปได้ในการที่เพื่อนบ้านจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของครอบครัวคนอื่นนั้นย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สัมพันธ์กับความรุนแรงทั้งระดับสังคม ชุมชน ครอบครัว และบุคคล
        กล่าวคือหากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีปัจจัยที่สัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัวทั้ง 4 ระดับ ในเชิงบวกหรือเป็นปัจจัยสนับสนุน เช่น สังคมตระหนักและยอมรับในสิทธิที่เท่าเทียมในบทบาทหญิงชาย มีปัจจัยที่เอื้อต่อการแทรกแซงจากชุมชนและบริบทที่เกี่ยวข้อง การเข้าไปแทรกแซงไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว สมาชิกในครอบครัวนั้นยอมรับการแทรกแซง และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสนับสนุนการแทรกแซงอย่างได้ผล ครอบครัวอื่นก็สามารถเข้าไปแทรกแซงได้
        แต่ถ้าหากขาดปัจจัยเชิงบวกหรือปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวข้างต้นแล้ว การเข้าไปแทรกแซงครอบครัวเพื่อนบ้านก็คงกระทำได้ยาก และครอบครัวที่เข้าไปแทรกแซงก็จะถูกตราหน้าว่าชอบยุ่งเรื่องของชาวบ้านเท่านั้น
สัมมนาสังคมศาสตร์เชิงพฤติกรรม สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว.
โดย ยงยุทธ แสนประสิทธิ์
        "ความรุนแรง " เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำและคนที่อยู่รอบข้าง ดังที่มีตัวอย่างให้พบเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวันเช่นกรณีพ่อทุบตีแม่ เด็กก็อาจจะถูกทุบตีไปด้วย
        เด็กที่ถูกทุบตี ทำร้าย หรือได้เห็นความรุนแรงเสมอ ๆ จะฝังใจเรื่องความรุนแรง เด็กจะเข้าใจผิดว่า ปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ปัญหาทุกปัญหาควรแก้ไขด้วยเหตุผล ด้วยการพูดจาทำความเข้าใจ นอกจากนี้ การอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เด็กจะกระทำความรุนแรงต่อเพื่อน และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกระทำรุนแรงต่อครอบครัวตนเอง ต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง จะเห็นได้ว่า "ความรุนแรง" ถ่ายทอดจากพ่อ แม่ ลูก หลาน เหลน ต่อไป ถ้าเราปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ความรุนแรงก็อยู่ในสังคมตลอดไป จึงเป็นเหตุผลว่า เราต้องป้องกันมิให้ความรุนแรงแพร่ขยายถ่ายทอดเป็นวัฎจักรที่ไม่ดีไปเรื่อย ๆ

[แก้ไข] อะไรคือความรุนแรง?

         ‘“ ความรุนแรง ”’ คือ พฤติกรรมการใช้อำนาจในการควบคุมหรือบังคับขู่เข็ญผู้อื่นให้เกิดความกลัว เช่น การทำร้ายร่างกาย การข่มขืน และการทารุณกรรมทางด้านจิตใจ
        เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่ผิดปกติ และสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางเพศ ปัญหาการกดขี่แรงงานเด็ก ฯลฯ
        ผู้ที่กระทำความผิดหรือมีพฤติกรรมของความรุนแรงที่เราพบเห็นในสังคมส่วนใหญ่มักเป็น“ผู้ชายในครอบครัว”
        และ “ผู้หญิง” มักจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง รวมไปถึงเด็กและผู้สูงอายุก็มักได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน
        ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กส่วนใหญ่ 70 - 80 % เป็นความรุนแรงในครอบครัว
        รูปแบบของความรุนแรงที่เราพบเห็นมีหลายรูปแบบ คือ
        ความรุนแรงต่อสตรี หมายถึง การกระทำใด ๆ ก็ตามที่เป็นผล หรืออาจเป็นผลให้เกิดการทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ เป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญกีดกันจำกัดเสรีภาพ ทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว
        ความรุนแรงต่อเด็ก หมายถึงการที่เด็กได้รับการปฏิบัติจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกครอบครัว จนเป็นเหตุให้เด็กได้รับอันตราย บาดเจ็บ กระทบกระเทือนทางด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ตลอดจนการถูกละเลย ไม่สนองตอบความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร การดูแลสุขภาพ และการอบรมเลี้ยงดู
        สิ่งบอกเหตุ 8 ประการ ของพ่อแม่ที่มีแนวโน้มในการทำร้ายบุตร
1. ทะเลาะเบาะแว้ง ตบตีกันตลอดเวลา
2. ติดยาเสพติด
3. ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก เก็บกด และขาดที่พึ่ง
4. คิดว่าลูกเป็นสมบัติของตนเอง
5. หมกมุ่นเรื่องเพศ
6. ไม่ผูกพันธ์กับลูก
7. เมาสุราเป็นอาจิณ
8. ชอบเล่นการพนัน
        ความรุนแรงต่อร่างกาย เป็นความรุนแรงที่ใช้กำลัง หรืออุปกรณ์ใด ๆ เป็นอาวุธ แล้วมีผลทำให้ผู้ถูกกระทำบาดเจ็บต่อร่างกาย เช่น การตบ ผลัก หยิก กัด ขว้าง ปา ทุบ ตี เตะ ต่อย และร้ายแรงถึงขั้นใช้อาวุธจนนำไปสู่การฆาตกรรม ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้เป็นเหยื่อเกิดอาการฟกช้ำดำเขียว บวมช้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กระดูกหัก และเสียชีวิตได้ที่รุนแรงที่สุดคือความรุนแรงทางเพศ หมายถึง การกระทำในในลักษณะข่มขืน ลวนลามทางเพศ บังคับให้ร่วมหลับนอน และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมพร้อมใจ การละเมิดสิทธิทางเพศต่าง ๆ รวมตั้งแต่การอวดอวัยวะเพศ การจับต้อง ลูบคลำ ทั้งการทำกับเด็ก หรือว่าให้เด็ก จับอวัยวะเพศของตน ให้เด็กดูสื่อลามก ถ่ายรูปโป๊เด็ก การสำเร็จความใคร่กับเด็ก หรือกระทำต่อหน้าเด็ก การใช้ปากกับอวัยวะเพศเด็กหรือให้เด็กใช้กับตน ถือว่าเป็นการลวนลามทางเพศทั้งสิ้น
        ส่วนความรุนแรงต่อจิตใจ คือ การกระทำหรือละเว้นไม่กระทำ ทอดทิ้ง เพิกเฉย ไม่ดูแลไม่ใส่ใจ ไม่ให้เกียรติ การทำร้ายจิตใจมีผลทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเสียใจ เสียสิทธิและเสรีภาพ เช่น การพูดจาดูถูก ด่าทอ เหยียดหยาม การก้าวร้าวทางวาจา การรบกวนรังควาน ปล่อยปละทอดทิ้ง ปฏิเสธสิทธิที่พึงมีพึงได้ การแสดงความเป็นเจ้าของที่มากเกินควร การริดรอนสิทธิด้านทรัพย์สินเงินทอง และทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น

[แก้ไข] ลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในครอบครัว

1. ความก้าวร้าวทางวาจา ได้แก่
- ดูถูกเหยียดหยาม
- ตะโกนใส่
- ตั้งฉายา
        โดยมีสาเหตุมาจาก
- การต้องการควบคุมผู้อื่น
- การต้องการแสดงพลังความเป็นชาย
- อิจฉาริษยาคู่ของตน
- คู่สมรสไม่ปรองดองกัน
2. ความก้าวร้าวต่อร่างกาย ได้แก่
- ผลัก
- ตบตี
- ผลักกระแทก
        โดยมีสาเหตุมาจาก
- การยอมรับและนำเอาการควบคุม โดยวิธีการที่รุนแรงมาใช้
- เลียนแบบการแสดงความก้าวร้าวรุนแรงต่อร่างกาย
- ถูกกระทำทารุณกรรมตั้งแต่เด็ก
- มีบุคลิกภาพที่นิยมความก้าวร้าว
- ติดสุรา
3. ความก้าวร้าวขั้นรุนแรงที่รุนแรงถึงฆาตกรรม ได้แก่
- ทุบตี
- เตะต่อย
- ทุบตีด้วยวัตถุ หรืออาวุธ
        โดยมีสาเหตุมาจาก
- การมีบุคลิกภาพแปรปรวน
- เก็บอารมณ์ไม่อยู่
- มีความยกย่องนับถือตนเองต่ำ
        ทำไมผู้ชายถึงทำร้ายผู้หญิง?
        พฤติกรรมของความก้าวร้าวและรุนแรงมาจากปูมหลังหรือภูมิหลังของครอบครัว จากบุคลิกภาพส่วนตัว
        ผู้ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่ปกติ จากครอบครัวที่นิจากครอบครัวที่นิวในการจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ก็จะใช้ความรุนแรงในการจัดการกับปัญหาในชีวิตตัวเองเช่นเดียวกัน
        ผนวกกับความกดดันจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ยิ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงมากขึ้น
        ผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงมักจะมีความเชื่อว่า “ความรุนแรง” เป็นวิธีเดียวที่จะสามารถควบคุมผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลที่ดีเยี่ยม
        และมักจะไม่รู้สึกเจ็บปวดกับผลลัพธ์หรือการกระทำของตัวเอง

[แก้ไข] ผู้ชายที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมรุนแรงคือบุคคลดังต่อไปนี้

- บิดามารดาทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอ
- เป็นบุคคลที่ไม่มีเหตุผล ไม่รับฟังความคิดเห็น ยึดตนเองเป็นใหญ่ ไม่ยอมรับผิด และชอบกล่าวโทษผู้อื่น
- เป็นบุคคลที่ไม่เคยยอมรับนับถือผู้หญิง ไม่เคยรู้สึกว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ให้เกียรติ พูดดูถูกผู้หญิง และมีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเครื่องสนองตอบทางเพศ และใช้กำลังบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงใช้ความรุนแรงเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- เป็นบุคคลที่ไม่ยอมรับนับถือตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ และไม่สามารถจัดการกับปัญหาชีวิต ทั้งที่ภาพลักษณ์ภายนอกนั้นเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ
- เป็นบุคคลที่ชอบคุยโวโอ้อวดว่าเก่ง รวย ชอบบังคับ ควบคุม ออกคำสั่ง
- เป็นบุคคลที่มักโทษว่าความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากความเครียด และความกดดันบีบคั้นที่รุนแรงจากชีวิตคู่ จากสุราสารเสพติด ฯลฯ
- มีพฤติกรรมบางอย่างที่มีสัญญาณเตือนว่าเป็นคนที่หวาดระแวง แสดงความเป็นเจ้าของผู้อื่น หึงหวง ไม่ให้แฟนหรือภรรยาคบหากับผู้อื่น
- เป็นคนใจร้อน โกรธง่าย ทำร้ายผู้อื่น ชอบทารุณกรรมสัตว์

[แก้ไข] ทำไมผู้หญิงยังคงอดทนต่อการถูกทำร้าย?

        เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยมากว่า ทำไมผู้หญิงยังคงอดทนอยู่ภายใต้สัมพันธภาพของความรุนแรง

[แก้ไข] คำตอบที่ได้รับคือ

        ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อยังต้องดำรงชีวิตอยู่ และต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือ โดยเฉพาะจากปัญหาทางเศรษฐกิจจากสามีหรือผู้ที่ทำร้ายเธอนั่นเอง
        บางคนต้องทนเพราะลูก ไม่มีที่ปรึกษา พึ่งตนเองก็ไม่ได้
        ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าตนเองบกพร่องต่อหน้าที่ หรือเป็นต้นเหตุที่ทำให้สามีโกรธ เพราะถูกสอนมาว่าให้มีหน้าที่คอยปรนนิบัติ บริการสามี และต้องอดทน
        ดังนั้น ผู้หญิงก็จะถือว่าการถูกกระทำรุนแรงจากสามีเป็นเรื่องปกติ และเป็นรูปแบบหนึ่งของการสั่งสอนนั่นเอง
        สิ่งสำคัญคือผู้หญิงเหล่านี้เป็นผู้ที่ขาดการยอมรับนับถือในตัวเอง และยังคงมีความรักเต็มเปี่ยมให้กับชายผู้ทำร้ายเธอ
        ทั้งที่ความจริงไม่มีใครสนุกกับการถูกทำร้าย
        และไม่มีสาเหตุอื่นใดที่ต้องอดทนอยู่กับความเจ็บปวด ยกเว้นแต่จะมีทางออกที่ดีสำหรับชีวิต
        เป็นเหตุผลที่สลับซับซ้อนยากเกินกว่าจะประกาศให้ผู้อื่นล่วงรู้ถึงเหตุผลและความรู้สึกได้ เพราะผู้หญิงจะรู้สึกโดดเดี่ยว อึดอัดใจ อดสู อับอาย ผิดหวังอย่างรุนแรง ไม่กล้าบอกใคร กลัวถูกตำหนิว่าเป็นผู้ผิด และเป็นผู้ล้มเหลวที่ไม่สามารถทำให้ครอบครัวเป็นปกติสุขได้
        แต่ยังคงมีความหวังอยู่ลึก ๆ ว่า สามีจะเปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นคนดีได้

[แก้ไข] อุปสรรคของการหลีกหนีความรุนแรงในครอบครัว

เหตุผลหลัก 3 ประการที่ผู้หญิงทั่วไปยังคงตกอยู่ในวังวนเหล่านี้
1. การขาดแคลนทรัพยากรหรือปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
- ผู้หญิงส่วนมากจะมีลูกอย่างน้อยหนึ่งคน
- ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้ประกอบอาชีพนอกบ้าน
- ผู้หญิงส่วนมากไม่มีสิทธิครอบครองทรัพย์สินเพียงลำพัง
- ผู้หญิงบางคนไม่มีเงินสดหรือเงินในบัญชีหมุนเวียนเพียงพอ
- ผู้หญิงไม่กล้าทิ้งครอบครัวที่ต้องดูแลไปเพราะนั่นหมายถึงต้องสูญเสียลูกไปด้วย
- ผู้หญิงพร้อมจะเผชิญหน้ากับมาตรฐานการมีชีวิตอยู่ที่ลดลงของตนเอง และลูก
2. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- ผู้ให้คำปรึกษาหรือทนายมักจะแนะนำให้รักษาชีวิตการแต่งงานมากกว่าจะเป็นผู้ยุติความรุนแรง
- ตำรวจไม่ได้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้หญิง แต่จะเข้ามาดูแลความรุนแรงในครอบครัวในกรณีที่เกิดทะเลาะวิวาทเท่านั้น
- ตำรวจพยายามตักเตือนและแนะนำผู้หญิงหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระทำรุนแรง อัยการเองก็มักฝืนใจที่ต้องดำเนินคดี และตัดสินเป็นค่าปรับเมื่อมีการพิสูจน์ว่า มีการกระทำทารุณ หรืออาจภาคทัณฑ์ หรือรอลงอาญาเท่านั้น
- ไม่มีที่พักเพียงพอที่จะดูแลผู้หญิงเหล่านี้ให้ปลอดภัยจากการกระทำทารุณซ้ำซากหรือการข่มขืนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
3. สิ่งที่ปฏิบัติกันสืบทอดกันมา
- ผู้หญิงส่วนมากไม่เชื่อว่าการหย่าร้างหรือการแยกกันอยู่จะเป็นทางเลือกที่ทำให้สามารถ มีชีวิตอยู่ต่อไปได้
- ผู้หญิงส่วนมากเชื่อว่าครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก ถึงแม้ว่า จะมีพ่อที่ก้าวร้าวหรือรุนแรงก็ยังดีกว่าไม่มีพ่อเลย
- ผู้หญิงส่วนมากเชื่อว่าสามารถรับผิดชอบชีวิตการแต่งงานได้ ความล้มเหลวของชีวิตการแต่งงานจะทำให้ชีวิตของผู้หญิงล้มเหลวไปด้วย
- ผู้หญิงส่วนมากกลายเป็นคนโดดเดี่ยว ห่างไกลจากเพื่อนฝูงและครอบครัว หรือกลายเป็นคนที่มีความอิจฉาริษยาหึงหวงและอยากเป็นเจ้าของที่รุนแรง หรือหลบหนีจากโลกภายนอก ความโดดเดี่ยวที่มีอยู่ทำให้ความรู้สึกต่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป
- ผู้หญิงส่วนมากจะอธิบายด้วยหลักและเหตุผลว่าพฤติกรรมความรุนแรงเกิดจากการถูกบีบคั้นหรือความกดดัน จากแอลกฮอลล์ จากปัญหาการทำงาน การถูกเลิกจ้างงานหรือปัจจัยอื่นๆ
- ผู้หญิงส่วนมากจะถูกสอนว่าการรักษาชีวิตคู่ไว้คือสิ่งที่มีค่า แม้ว่าการทารุณกรรม ทำให้ผู้หญิงเหนื่อยล้าตลอดเวลา แต่ระหว่างที่ไม่มีสภาวะของความรุนแรง ผู้ชายจะทำให้ผู้หญิงใฝ่ฝันถึงชีวิตรักที่โรแมนติค และทำให้เชื่อว่าจริง ๆ แล้วพื้นฐาน ผู้ชายคนนี้เป็นคนดี และถ้าเชื่อเช่นนี้ก็จะสำนึกตลอดเวลาว่าเขาเป็นคนดี และความเชื่อนี้จะยังคงอยู่ต่อไป โดยจะอธิบายด้วยหลักและเหตุผลที่ดีถึงความรุนแรงที่เธอได้รับ จนกระทั่งมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นที่เกิดจากการกระทำของผู้ชาย

[แก้ไข] ความอดทนต่อความรุนแรงที่อยู่เหนือเหตุผล

        ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่อยากตกอยู่สภาพที่ตนเองถูกกระทำรุนแรงซ้ำซาก โดยที่ตนเองไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้อะไรเลย ทุกคนอยากหาทางออกและยุติความรุนแรงให้เร็วที่สุด เพียงแต่ใครจะหาทางออกให้กับชีวิตตัวเองได้เร็วแค่ไหนเท่านั้นเอง
        องค์ประกอบที่เป็นอุปสรรคของผู้หญิงมีมากมาย ไม่ว่าการต้องพึ่งพิงเรื่องเงินทองจากสามี สรีระร่างกายที่บอบบางกว่าทำให้ขยาดสามีไม่กล้าต่อสู้ด้วย ก็เลยเข้าสู่ภาวะจำยอมให้ต้องทนต่อไป ด้วยปัจจัยและเหตุผลนานัปการ
1. อุปสรรคที่ขวางกั้นและเกี่ยวเนื่องกัน
        "ก็รักเขานะ เขาก็ดี แต่หากเหล้าเข้าปากเมื่อไร ก็เป็นอย่างนี้แหละ จะห้ามเขากินก็ไม่สำเร็จ"
2. อารมณ์ที่ผูกพัน และการต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
        "ก็อยู่กันมานาน ฉันก็ไม่มีบ้าน ไม่มีใครอื่น ไม่มีที่ไป"
        "เขาเป็นพ่อที่ดี รักลูก รับผิดชอบเรื่องเงินทองก็ดูแลเอาใจใส่ดี"
3. ค่านิยมกับสถาบันครอบครัวและความคาดหวังของสังคมต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา
        "พยายามทนเอา เห็นแก่ลูก กลัวว่าถ้าแยกทางกันลูกจะขาดความอบอุ่น"
        "ฉันไม่ใช่คนที่ชอบระบาย มีปัญหาก็เก็บไว้กับตัว ยิ่งเป็นปัญหากับสามีก็ยิ่งไม่อยากให้ใครรู้ พ่อแม่ก็ไม่ได้บอก ถึงจะเล่าให้ฟัง เขาก็ต้องบอกให้ทนอยู่ดี เพราะอยากแต่งอยู่กินกับเขาเอง"
        "เคยไปแจ้งตำรวจ แต่เขาบอกว่าผัวเมียกันก็เหมือนลิ้นกับฟัน ให้อดทนเอา ยอม ๆ เขาบ้าง คู่อื่นก็มีปัญหาเหมือนกัน"
4. สิ่งที่ตอกย้ำความรู้สึกว่าตัวเองผิด ความรู้สึกว่าตนเองเป็นสาเหตุของความรุนแรง
        "พยายามคิดเหมือนกันว่า เราไปทำอะไรให้เขาโมโห ที่เขาหันมาชกเรา ก็คงเป็นเพราะเราไปต่อว่าเขาต่อหน้าคนอื่น"
        ฉันหมดปัญญา แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ก็น่าที่เขาจะโมโหเอากับฉัน"
5. อุปสรรคคือความกลัว ซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกกรณี
        "เคยคิดจะฆ่าเขา แต่ก็กลัว กลัวจะฆ่าเขาแล้วเกิดเขาไม่ตาย เขาจะมาทำร้ายเราอีก"
        สามีชอบทุบตีรุนแรง ตบตีไม่เลือก จนผวาไปหมด ใจน่ะกลัว แต่พยายามข่มความกลัว เวลาเขาแรงมาก็จะสู้กลับ"
        ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงมีสภาพเสมือนนักโทษ แต่เป็นนักโทษที่ปราศจากกรงขัง เป็นกรงขังที่ถูกตีกรอบด้วยความคิดและความเชื่อให้เธอต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมเช่นนั้นต่อไป
        "ทำไมเธอยังคงทนอยู่?"
        "เธอทนอยู่เพื่ออะไร?"
        "เธอต้องทนอยู่ในสภาพนี้อีกนานเท่าไร?"
        "ทำไมไม่ก้าวออกมาจากชีวิตแบบนั้น?"
        และอีกหลายคำถามที่ตั้งประเด็นไปยังผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงว่าทำไมไม่ดำเนินกฎหมายกับผู้ถูกกระทำ เพราะความรุนแรงนั้นเข้าขั้นอาชญากรรม
        คำตอบที่ได้รับจากผู้หญิงเหล่านั้นมักคล้ายคลึงคือ เพราะเขาเป็น "สามี" และเป็น "พ่อของลูก"
        นี่คือจุดที่ต้องนำมาขบคิดว่าเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ดังนั้นมีสิ่งที่ต้องทบทวนคือ
1. สิ่งที่สังคมต้องให้ความสนใจกับผู้หญิงเหล่านี้
- ความต้องการของผู้หญิงที่ถูกกระทำนั้นคืออะไร
- มาตรการและกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ทุกฝ่ายพัฒนา วางแนวทางเพื่อแก้ไขและช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ถูกกระทำอย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่ อย่างไร
2. สิ่งที่ผู้หญิงในฐานะที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวต้องการ
- ความคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- ให้มีการช่วยเหลือสามีหรือคู่รัก เพื่อที่เขาจะได้หยุดพฤติกรรมความรุนแรง และจะได้ไม่ต้องติดคุก
- ให้ที่พักพิงหลบภัยชั่วคราว
- ให้ลูกได้รับความดูแล หาต้องทิ้งครอบครัวออกมา
- ให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือที่จะปรับตัวเข้ากับสภาพใหม่ หากตัดสินใจก้าวออกจากความรุนแรง
- ความเข้าใจหากเธอจะตัดสินใจกลับไปสู่ความสัมพันธ์ที่คนนอกทราบดีว่า จะยังคงความรุนแรงและอาจจะรุนแรงขึ้นอีก
        ปัจจัยที่เอื้อต่อการตัดสินใจให้ก้าวเดินออกจากความรุนแรงก็คือ ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ถี่ครั้งขึ้น จนถึงจุดที่คิดว่าจะไม่มีทางเปลี่ยนพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน และตนเองก็แก้ไขอะไรไม่ได้ รวมถึงความรุนแรงที่ลุกลามบานปลายมาถึงบุคคลที่ 3 คือ "ลูก" ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจึงกล้าที่จะตัดสินใจก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก นอกจากนี้การได้รับความเห็นใจและความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือญาติก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงตัดสินใจที่จะต่อสู้กับปัญหาได้ง่ายขึ้น

[แก้ไข] การคาดการณ์ความรุนแรงในครอบครัว

        สัญญาณต่อไปนี้จะเกิดขึ้นก่อนที่ความก้าวร้าวที่แท้จริงจะเกิดขึ้น หรือมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น
1. เขาเติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงหรือเปล่า? คนส่วนใหญ่ที่เติบโตในครอบครัวที่ใช้ความก้าวร้าวจะเป็นเด็กที่ก้าวร้าว หรือครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่ทำร้ายกัน เด็กก็จะเติบโตและเรียนรู้ว่าพฤติกรรมความก้าวร้าวเป็นเรื่องที่ปกติ
2. เขาได้รับการดูแลหรือใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาหรือเปล่า? ชายหนุ่มผู้เป็นอาชญากรที่ถูกบันทึกว่าใช้ความรุนแรง จะใช้การต่อสู้ หรือชอบแสดงออกถึงความมุทะลุและชอบที่จะแสดงการกระทำในลักษณะเดียวกันนี้กับภรรยาและลูก เขามีความรุนแรงแบบนี้หรือไม่? แสดงออกมากถึงปัญหาหรือความผิดหวังหรือไม่? ทารุณกรรมสัตว์หรือเปล่า? ต่อยกำแพง หรือขว้างปาสิ่งของเมื่ออารมณ์เสียหรือเปล่า? พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของบุคคลที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกก้าวร้าวที่อยู่ในจิตใจ
3. เขามีพฤติกรรมดื่มแอลกฮอลล์ หรือใช้ยาอื่น ๆ หรือไม่? มีการเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมความรุนแรงและปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกฮอลล์ และยา มีความตื่นตัวหรือมีความเป็นไปได้ที่จะดื่มหรือใช้ยา โดยเฉพาะถ้าปฏิเสธที่จะยอมรับว่ามีปัญหา หรือปฏิเสธที่จะได้รับการช่วยเหลือ คุณคงไม่คิดว่าคุณจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเขาได้?
4. เขามีความคิดเก่าแก่ที่เด็ดเดี่ยวเกี่ยวกับว่าผู้ชายจะต้องเป็นอย่างนี้และผู้หญิงต้องเป็นอย่างนี้หรือเปล่า? คิดว่าผู้หญิงจะต้องอยู่กับบ้าน ดูแลสามี และทำตามที่ปรารถนาหรือที่สั่งทุกอย่างหรือเปล่า?
5. เขาหึงหวงหรือระแวงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคุณกับคนอื่นหรือเปล่า? ไม่เพียงแต่ผู้ชายอื่นที่คุณรู้จักเท่านั้น แต่กับเพื่อนของคุณและครอบครัวของคุณ คุณจะรักษาระดับความสัมพันธ์นี้ได้หรือเปล่า? ต้องการรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหนตลอดเวลาหรือเปล่า? ต้องการให้คุณอยู่กับเขาตลอดเวลาหรือเปล่า?
6. เขาเข้าใกล้ปืน มีด หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้หรือเปล่า? มีการพูดเกี่ยวกับการใช้การต่อสู้กับคนอื่นหรือเปล่า? หรือใช้การข่มขู่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการหรือเปล่า?
7. เขาคาดหวังว่าคุณจะต้องทำตามคำสั่งหรือคำแนะนำของเขาหรือเปล่า? และกลายเป็นคนโกรธง่ายถ้าคุณไม่สามารถเติมเต็มในสิ่งที่ปรารถนาหรือถ้าคุณไม่สามารถทำในสิ่งที่เขาต้องการหรือคาดหมายได้หรือเปล่า?
8. เขาเติบโตมาแบบสุดขั้วแบบสูงสุดหรือต่ำสุด? ถึงแม้ว่าคนสองลักษณะนี้จะแตกต่างกัน แต่ความเป็นคนสุดขั้วชนิดใดในเวลาใดเวลาหนึ่ง และทารุณกรรมสุดขั้วในอีกเวลาหนึ่งหรือไม่?
9. เมื่อเขาโกรธ? คุณกลัวหรือไม่? ถ้าคุณพบว่าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนความโกรธให้เป็นอีกคนหนึ่งได้ คุณทำในสิ่งที่เขาต้องการได้หรือไม่ มันค่อนข้างยากที่คุณต้องการให้เขาทำหรือเปล่า?
10. เขาดูแลคุณอย่างหยาบคายหรือเปล่า? บังคับคุณให้ทำอะไรไม่ใช่ว่าคุณต้องการทำอะไรหรือเปล่า?

[แก้ไข] วิธีตรวจสอบคู่ของคุณ

        แบบสอบถามต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ต้องคิดว่าคุณจะดูแลอย่างไรและดูแลคู่ครองอย่างไร จำไว้ว่า เมื่อไรก็ตามที่คนใดคนหนึ่งรู้สึกกลัว หรือเจ็บปวด ในขณะที่อีกคนวางเงื่อนไขกับคนอื่นอย่างซ้ำซาก นั่นคือความก้าวร้าว
        ใช่คู่ครองของคุณหรือเปล่า?
- ก่อความยุ่งยากหรือทำให้คุณสนุกต่อหน้าเพื่อนฝูงหรือครอบครัวของคุณ?
- วางเงื่อนไขความสำเร็จหรือเป้าหมายหรือเปล่า?
- ทำให้คุณรู้สึกเหมือนคุณไร้ความสามารถที่จะตัดสินใจอะไรหรือไม่?
- ใช้การบังคับขู่เข็ญหรือคุกคามให้คุณยอมจำนนหรือเปล่า?
- บอกคุณว่าชีวิตคุณจะไม่เหลืออะไรเลยถ้าคุณปราศจากเขา?
- ดูแลคุณอย่างหยาบคาย คว้า ผลัก กัด หยิก ผลักอย่างแรง หรือทุบตีคุณหรือเปล่า?
- บอกคุณอยู่บ่อยครั้งหรือแสดงให้คุณเห็นหรือทำให้คุณมั่นใจว่าคุณอยู่ที่ไหนเขาก็จะอยู่ที่นั่น?
- ใช้ยาหรือดื่มแอลกฮอลล์ในขณะที่แก้ตัวหรือยอมรับผิดและพูดว่าเขารู้สึกเจ็บปวดในสิ่งที่ทำหรือทารุณกรรมกับคุณหรือเปล่า?
- กล่าวโทษคุณว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไรถ้าคุณทำอย่างนี้?
- กดดันให้คุณมีเพศสัมพันธ์แม้ว่าคุณจะไม่พร้อม?
- ทำให้คุณรู้สึกว่าคุณไม่มีทางออกสำหรับสัมพันธภาพนี้?
- ขัดขวางในสิ่งที่คุณต้องการ เช่นเวลาที่คุณต้องการอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัวของคุณ?
- พยายามไม่ให้คุณหนีไปหลังจากที่มีการต่อสู้หรือออกจากสถานที่แห่งนั้นหลังจากที่มีการต่อสู้ และบอกว่า"นี่คือบทจะสอนคุณ"

[แก้ไข] ใช่คุณหรือเปล่า?

- บางครั้งคุณรู้สึกกลัวว่าคู่ครองของคุณจะแสดงออกอย่างไรบ้าง?
- คุณมีการขอโทษคู่ครองของคุณอย่างสม่ำเสมอหรือไม่?
- เชื่อว่าคุณสามารถเปลี่ยนคู่ครองของคุณได้ และคุณเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงคู่ครองของคุณได้?
- คุณพยายามไม่ทำบางสิ่งบางอย่างที่ขัดแย้งหรือทำให้คู่ครองของคุณโกรธหรือไม่?
- รู้สึกเหมือนว่าไม่มีอะไรที่คุณทำได้ คู่ครองของคุณไม่เคยรู้สึกมีความสุขกับคุณหรือเปล่า?
- รู้สึกอยู่เสมอว่าคู่ครองของคุณต้องการให้คุณทำอะไรแทนที่คุณต้องการทำอะไร?
- อยู่กับคู่ครองเพราะกลัวว่าจะทำอะไรคุณหรือถ้าคุณหักอกเขา?
ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ของคุณ คุณต้องหาทางที่จะบอกหรือพูดกับใครบ้าง เพราะถ้าคุณไม่ได้รับความช่วยเหลือ คุณจะประสบกับปัญหาความรุนแรงต่อเนื่องอย่างแน่นอน