วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ความคิดขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ร้าวลึก

เรื่องที่ 5   เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ความคิดขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ร้าวลึก



     คนจำนวนมากของสังคมไทยในเวลานี้  แม้กระทั่งผู้นำทางการเมืองจำนวนไม่น้อย  มองปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองของไทยที่มีกลุ่มคนใส่เสื้อสีต่างๆ อยู่หลายสีจนใกล้เกือบจะครบรุ้งเจ็ดสีอยู่แล้ว  ว่าเป็นเพียงแนวคิดความขัดแย้งทางการเมืองที่คิดเห็นไม่ตรงกัน  โดยเฉพาะคนในรัฐบาลด้วยแล้ว  เห็นปัญหานี้เป็นเพียงการต่อสู้เรียกร้องเพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณกับพวกที่ต่อต้านทักษิณ  มุมมองของปัญหาที่แคบมากเช่นนี้  รังแต่จะสร้างให้ความแตกแยกร้าวลึกและกว้างขวางมากขึ้น  และจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงจนอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองในอนาคต

                หากจะมองย้อนหลังไปราวสิบปี  หลังจากที่บ้านเมืองผ่านภาวะวิกฤตจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาได้  รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างมาจากตัวแทนประชาชน ได้นำพาประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง  จนเกิดยุคประชาธิปไตยนายทุนอีกรอบ  แทนประชาธิปไตยนายทหารที่ปกครองสังคมไทยมายาวนาน  คนไทยจำนวนมากไม่เพียงแต่ชาวบ้านรากหญ้า  แม้กระทั่งอดีตผู้ร่วมอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ไปจนถึงปัญญาชน ดารา นักร้อง ฯลฯ  เกิดหลงใหลและเสพติดกับแนวคิดการเมืองแบบเศรษฐกิจนำการเมือง  ประชานิยมสมัยใหม่สร้างความพอใจอย่างมากให้กับคนจำนวนมาก  การส่งเสริมการบริโภคแบบไม่ต้องอดออม  “ยอมเป็นหนี้ดีกว่าไม่มีเงินใช้ “  กลายเป็นสิ่งที่นิยมปฏิบัติของประชาชนคนไทย  ที่ฟังกระแสพระราชดำรัสแล้วกลับไม่ทำตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  นักธุรกิจ ชนชั้นกลาง ชาวบ้าน  จำนวนไม่น้อยได้รับผลประโยชน์ผลพลอยได้จากเศรษฐกิจฟองสบู่ที่เติบโตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง (ซึ่งผมเคยเรียกว่าเศรษฐกิจแบบส้มโอเน่า)  ความศรัทธาและเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อโรแมนติคมากในชื่อ พรรคไทยรักไทย  (ชื่อพรรคการเมืองเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใครเช่นเดียวกับอีกหลายชื่อพรรคการเมือง  ซึ่งผมก็ตอบเพื่อนชาวต่างประเทศไม่ได้ว่าหมายถึงอะไร)  ได้สร้างคะแนนนิยมจำนวนมหาศาลในหมู่ประชาชนคนไทย  สร้างความตื่นตระหนกและตกตะลึงแก่นักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่เคยคิดวิธีการใหม่ๆ  และจ้องแต่จะกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศชาติโดยลืมหาเสียงกับรากหญ้า  เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่านโยบายเศรษฐกิจจะสำคัญกว่านโยบายทางการเมือง  เพราะเศรษฐกิจเป็นตัวนำทางการเมืองมาตลอดในประวัติศาสตร์โลก  และนักเรียนนักศึกษาไทยก็ไม่เคยมีใครคิดเช่นนี้  เพราะการเรียนประวัติศาสตร์แบบครูไม่ฉลาดพยายามสอนให้เด็กฉลาด

                ณ วันนี้คงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า   รอบตัวเรามีคนที่คิดแตกต่างกันอย่างมากอยู่สองขั้วใหญ่ๆ  มันคือขั้วไฟฟ้าที่ต่างประจุและไม่มีทางสามารถต่อสายสองขั้วนี้เข้าหากัน  เพราะต่อกันทีไรก็ช็อตทุกที  เหมือนดังเช่นปาหี่การเจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้นำนปช.กับผู้นำรัฐบาลที่ผ่านมา สิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่งในเวลานี้คือ  การมองของผู้นำรัฐบาลที่เห็นว่ามวลชนคนเสื้อแดงนั้นเป็นเพียงผู้ถูกยุยงปลุกปั่นให้มาร่วมชุมนุม  โดยมีขบวนการก่อการร้ายแฝงอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง  แล้วพยายามยัดเยียดตำแหน่งหัวหน้าผู้ก่อการร้ายให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี  ผู้ที่มีเงินมหาศาลและมีผู้ให้การสนับสนุนจำนวนมาก  เช่นเดียวกับมิสเตอร์บินลาดิน  ที่รัฐบาลอเมริกันพยายามไล่จับมาหลายสิบปีแล้วแต่ก็ไม่ได้ผลสักที

                ผมเป็นคนชอบสังเกตและชอบสอบถาม  บางครั้งก็แอบดูหรือแอบฟังสิ่งที่คนอื่นเขากระทำหรือสนทนากัน  โทรทัศน์วิทยุก็เปิดฟังทุกวันโดยไม่เลือกว่าเป็นของฝ่ายใด  และบังเอิญว่าผมได้ย้ายที่ทำงานจากจังหวัดสีเหลืองมาสู่จังหวัดสีแดง  จากที่เดินผ่านไปร้านค้าบ้านไหนได้ยินแต่เสียงโทรทัศน์ช่อง ASTV ก็กลายเป็น People channel แทน  วันไหนออกไปนอกเมืองแม้กระทั่งเข้าไปในหุบเขาถิ่นที่อยู่ชาวเขาก็เห็นแต่ชาวบ้านเปิดวิทยุสถานีคนรักเชียงใหม่51 หรือโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของเสื้อแดง  เข้าไปในตลาดไม่ว่าตลาดไหนก็ได้ยินแต่แม่ค้าเปิดฟังวิทยุเสื้อแดงตั้งแต่เช้ายันดึก  บ้านชาวบ้านไม่น้อยถึงกับชักธงแดงหน้าบ้าน  นี่หากย้อนหลังไปสามสิบปีคงโดนจับข้อหาคอมมิวนิสต์ไปนานแล้ว  หันกลับมามองเพื่อนพ้องญาติมิตร  ก็ต้องยอมรับว่าผมมีเพื่อนที่เรียนเก่งกว่าผมอยู่มากมาย  บ้างทำงานด้านคอมพิวเตอร์  บ้างเป็นเจ้าของกิจการ บ้างเป็นเภสัชกร  ฯลฯ  ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เห็นชัดว่าต่อต้านรัฐบาลและอยากให้คุณทักษิณกลับมาบริหารประเทศชาติ  แม้ว่าจำนวนที่มากกว่าจะออกไปทางสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลืองเข้ม  แต่ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่แดงอ่อนถึงแดงเข้มก็ไม่ใช่แค่ชาวบ้านรากหญ้าธรรมดาเท่านั้น  ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกับผู้คนที่ร่วมชุมนุมกับ นปช. เวลานี้ที่มีทั้งผู้นำทางการเมือง นายทหาร พระ ดารานักร้อง นักธุรกิจ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านไม่ว่าชาวไร่ชาวนา กรรมกร ผู้หาเช้ากินค่ำ ฯลฯ

                การมองปัญหาแบบไม่ลึกและไม่ครอบคลุมนี้  อาจทำให้มองข้ามความจริงหลายประการที่สำคัญไป  ความแตกแยกทางความคิดในบ้านเมืองไทยเวลานี้  แม้หลักของความคิดผู้คนในบ้านเมืองอาจจะไม่แจ่มชัดเช่นเดียวกับสมัยการต่อสู้อุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา แต่เนื่องจากระยะเวลาการก่อเกิดความขัดแย้งตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว  ไม่เคยมีใครรู้จริงว่าผู้ที่สนับสนุนแนวคิดคอมมิวนิสต์มีกี่คน  ก็คงเช่นเดียวกับคนเสื้อแดงที่แท้จริงมีกี่คน (หมายถึงคนที่ไม่ใช่นักการเมืองหรือผู้นำเสื้อแดงเท่านั้น)  การขัดแย้งในสิ่งที่เป็นความเชื่อของคนในสังคมนั้น  บางเรื่องอาจใช้เวลาไม่นานก็จางหายไป  และบางเรื่องก็ไม่มีอะไรมาทำให้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นสามารถหลอมรวมกันได้เลย จนกว่าคนที่เชื่อต่างกันจะหมดลมหายใจไปเอง  อาทิเช่น คนที่เชื่อในพระเจ้า  คนที่เชื่อในอุดมการณ์  คนที่เชื่อในวีรบุรุษในดวงใจของเขา ฯลฯ  และสำหรับกรณีนี้นั้น  ผมกลับมองไม่เห็นว่าจะหายไปได้อย่างไรและเมื่อไร  เพราะ

1.      กลุ่มเสื้อแดงเวลานี้มีฐานสนับสนุนทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ  เราต้องไม่ลืมว่าเสื้อแดงก็คือไทยรักไทย ไทยรักไทยก็คือพลังประชาชน และชื่อพลังประชาชนก็บอกโดยนัยแล้วว่าต้องการให้มีประชาชนเป็นผู้ให้การสนับสนุนจำนวนมาก  จังหวัดที่มีฐานเสียงเข้มแข็งมีอยู่มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและอีสาน  ซึ่งคือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ   หากคุณเป็นคนกรุงเทพฯและไม่เคยออกมาสัมผัสกับชนบท  คุณจะรู้ได้อย่างไรครับว่าพลังประชาชนมีจำนวนเท่าใด  นี้ก็คือปัญหาเดียวกับสมัยปราบคอมมิวนิสต์ที่ทำอย่างไรก็ไม่มีทางปราบหมด  และที่เหลือเชื่อว่าคล้ายกันก็คือ  การมีผู้นำร่วม แกนนำ ครอบคลุมไปทั่วประเทศ และคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่คนธรรมดา  แต่เป็นถึงคนที่มากด้วยประสบการณ์และความสามารถ  แถมยังมีการสนับสนุนจากคนไทยในต่างประเทศอีกด้วย  จนแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศก็แอบเชียร์กลุ่มคนเสื้อแดง

2.      การสร้างความโกรธแค้นให้กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง  เราท่านคงจำกันได้กับประโยคที่ว่า “คอมมิวนิสต์ ยิ่งปราบก็จะยิ่งเกิด”  การกระทำที่ผ่านมาของผู้นำในบ้านเมืองที่ยอมให้มี “สองมาตรฐาน”  ได้กลายเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมและเกิดความโกรธแค้นในหมู่ผู้ที่สนับสนุนคนเสื้อแดง   ยิ่งการออกมาพูดในเชิงยั่วยุหรือดูหมิ่นดูแคลนผู้เข้าร่วมชุมนุม  ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  ทำให้ความขัดแย้งของความคิดได้พัฒนาความขัดแย้งยกระดับเข้าสู่ความขัดแย้งอารมณ์  การออกมาโจมตีซึ่งกันและกันแบบไม่ให้เกียรติ  ไปจนถึงแนวคิดการตีให้ตายหรือตีหมาจนตรอก  การเล่นเกมส์การเมืองโดยคำนึงถึงแต่การรักษาอำนาจและผลประโยชน์  ย่อมไม่มีทางจะหาทางสมานฉันท์ได้  จนถึงวันนี้น่าจะเป็นวันที่คำว่า “สมานฉันท์” และ “เจรจา” น่าจะทำได้ยากมากแล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสูญเสียชีวิตหรือพิการเกิดขึ้นจากการชุมนุม  ย่อมจะทำให้ญาติมิตรของผู้สูญเสียจ้องแต่จะล้างแค้นให้ได้  เว้นเสียแต่จะมีวิธีการเยียวยาความรู้สึกที่ยากเหลือเกินที่จะทำได้ผล

3.      การเข้าร่วมวงไพบูลย์ของผู้อยู่เบื้องหลังสีต่างๆ จากประชาชน ปัญหานี้หากไม่ศึกษาให้ถ่องแท้แล้ว  หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าทำไมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าเสื้อสีใดก็ตาม  สามารถทำการชุมนุมได้ครั้งละนานๆ  หรือจัดแบบต่อเนื่องได้   แม้กระทั่งกลุ่มคนเสื้อแดงที่รัฐบาลปรามาสมาตลอดว่าคงจะชุมนุมได้ไม่กี่วันก็คงจะต้องเลิกกันไปเอง  และชอบไปโทษว่ามีเพียงท่อน้ำเลี้ยงใหญ่จากดูไบส่งลอดใต้ทะเลทรายมายังเมืองไทย  อันที่จริงแล้วหากสำรวจให้ดีจะพบว่า  คนที่สนับสนุนโดยศรัทธาและเชื่อมั่นในความตั้งใจดีของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นมีอยู่มากทีเดียว  ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของคนกรุงเทพฯและผู้นำรัฐบาลอย่างมาก   เพราะมีทั้งคนเฒ่าคนแก่  แม่ค้า  ข้าราชการ ประชาชน ฯลฯ  จำนวนไม่น้อยที่ให้การสนับสนุนเสียสละเงินทอง  อาหาร  ฯลฯ  ส่งไปช่วยผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง  จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ข้าวเหนียว น้ำพริก ผัก ผลไม้ ยารักษาโรค ฯลฯ  จำนวนมากเป็นพลังศรัทธาของประชาชนที่ส่งไปสนับสนุนช่วยเหลือ   รายงานแบบนี้ผมไม่ทราบว่าเคยมีส่งถึงนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดหรือไม่ครับ ?  เช่นเดียวกัน  ในครั้งที่มีม็อบพันธมิตรยึดทำเนียบหรือปิดสนามบิน  ผมได้เห็นนักธุรกิจระดับร้อยล้านจำนวนไม่น้อย  ที่ไปร่วมชุมนุมหรือส่งเงินทองสิ่งของไปให้ด้วยบริสุทธิ์ใจเช่นกัน   คนเหล่านี้ไม่ว่าฝ่ายเสื้อสีไหน  ในจิตใจส่วนลึกแล้วเขาหวังดีต่อประเทศชาติ  แต่กลับถูกผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าร้ายป้ายสีไปต่างๆนานา

4.      นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีส่วนสนับสนุนเพราะมีส่วนได้เสีย  การดำเนินกิจกรรมการเมืองใดๆ  หากเป็นของพลังประชาชนล้วนๆ แล้ว  มักจะถูกปราบปรามได้โดยง่าย  เพราะผู้ร่วมกิจกรรมก็มักมีความหวาดกลัว  และการข่าวก็จะไม่ทันหากจะมีการล้อมจับหรือปราบปราม  เราทุกคนทราบกันดีว่า  ส.ส.ที่อยู่ในสภาเวลานี้เกือบครึ่งหนึ่งอยู่ฝ่ายเสื้อแดง  นักการเมืองหนึ่งคนย่อมมีประชาชนที่เป็นฐานเสียงไม่ต่ำกว่าหมื่นคน  ดังนั้น  หากเพียงแค่กดเครื่องคิดเลขดูก็จะเห็นว่ากลุ่ม นปช.นั้น ยิ่งใหญ่กว่ากลุ่มพันธมิตร หรือกลุ่มพลังประชาชนที่ผ่านมาเพียงใด  สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าข้างนักการเมืองขั้วเดิมก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน  ก็คงเป็นจริงอย่างที่ผู้นำเสื้อแดงกล่าวว่า มีทหารไม่น้อยที่เป็นทหารแตงโม (เปลือกเขียวเนื้อในแดง) หรือที่ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองกล่าวว่า มีทหารบางส่วนเป็นทหารสัปปะรด (เปลือกเขียวเนื้อในเหลือง)  คนเหล่านี้รวมไปจนถึงผู้นำชาวบ้านที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของคนเสื้อแดง  ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับผลสำเร็จในการเคลื่อนไหว  ซึ่งผลประโยชน์บางอย่างก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายด้วยซ้ำไป  มันก็เช่นเดียวกับชาวยุโรปหรืออเมริกันที่สนับสนุนพรรคการเมืองในดวงใจของตน  และหากพรรคที่ตนสนับสนุนได้เป็นผู้บริหารประเทศ  ผลประโยชน์ก็จะตกแก่กับกลุ่มของตนมากกว่าการไม่ได้เป็นผู้บริหารประเทศ  แต่สิ่งที่น่าวิตกก็คือ   ความขัดแย้งนั้นมีอยสาเหตุอยูู่่สามประเภท คือ หนึ่งขัดแย้งเพราะหลักการ (คิดไม่เหมือนกัน ยังรอมชอมหรืออยู่ร่วมกันได้) , สอง ขัดแย้งเพราะอารมณ์ (ไม่ถูกขี้หน้ากัน เกียจกัน ซึ่งเวลานี้เป็นมากแล้ว  หากคุณได้ฟังว่าเขาด่ากันอย่างไร รุนแรงขนาดไหน ก็จะเห็นเองว่ายากสุดๆ ที่จะกลับหันหน้าเข้าหากัน), สาม ขัดแย้งเพราะผลประโยชน์ (ถ้าชนะ ก็ได้ประโยชน์  ถ้าแพ้  ก็ต้องเสียประโยชน์หรืออาจโดนแกล้งคืน จึงไม่มีทางอยู่ร่วมโลกกันได้  นอกจากผลประโยชน์แอบแฝงทั้งหลายต้องหมดสิ้นไปก่อน  หรือหาทางประนีประนอมผลประโยชน์กันได้อย่างลงตัว)  ดังนั้น  ความขัดแย้งเวลานี้จึงผสานไปด้วยทั้งสามส่วนโดยสมบูรณ์แล้ว  ต่อให้ใครที่ไหนก็คงยากที่จะช่วยประสานได้

5.      การเล่นการเมือง  และสำนวนโวหารของนักการเมือง  เป็นเรื่องน่าเศร้าและโชคร้ายอย่างยิ่งของประเทศไทย  ที่มีนักการเมืองจำนวนมากที่ฝีปากดีแต่ทำงานไม่ได้เรื่อง  การพยายามสร้างภาพที่ดีให้แก่ฝ่ายตนแล้วหาความผิดความเลวคนอื่นมาเปิดเผย  กลายเป็นงานหลักของนักการเมืองไทย  การพยายามเจรจากันเป็นเพียงการสร้างภาพหลอกประชาชนว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายที่ต้องการสันติ   แต่ไม่ได้พยายามหาทางออกอย่างแท้จริง  สำหรับพรรคแกนนำรัฐบาล  ก็ได้แต่พยายามวางเกมส์เพื่อรักษาฐานอำนาจและอยู่เป็นรัฐบาลให้จนจัดงบประมาณปีหน้าแล้วเสร็จ  ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ก็พยายามเดินเกมส์ต่อรองเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ตามที่ตนเองต้องการ  ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็ต้องการให้ยุบสภาเร็วที่สุดเพียงเพื่อมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลเสียเอง  ทุกฝ่ายจึงต้องพยายามสร้างหรือสลายการชุมนุม  โดยไม่เคยคิดว่าประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมชุมนุมเพราะเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจ (สังเกตจากนักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุม  มีไม่น้อยที่เป็นคนที่หาเช้ากินค่ำ  และเดือดร้อนจากการหารายได้ไม่พอใช้จ่าย ไม่ว่าจากการค้าขายฝืดเคืองหรือจากการทำเกษตรที่ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า  จึงอยากให้มีการเปลี่ยนรัฐบาล  ไปจนถึงอยากให้คุณทักษิณกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง)

6.      ความยากจนและความไม่เสมอภาคทางชนชั้นที่มีมากขึ้น  การที่มีประชาชนคนรากหญ้าเข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากนั้น  จำนวนหลักไม่น่าจะมาจากการจ้างวานตามคำกล่าวหาของฝ่ายรัฐบาล  และนับวันความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งนับวันจะมากขึ้น  คนจนตามคำจำกัดความของรัฐบาลดูเหมือนจะมีจำนวนไม่มาก  เพราะไปกำหนดตัวเลขวัดไว้ที่รายได้ต่ำมาก  แต่ความจริงก็คือในเวลานี้ผลผลิตการเกษตรมีปัญหามากทั้งทางด้านปริมาณผลผลิตและราคา  และธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ไปไม่รอดก็มีมากมาย  เกิดปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายและคนเป็นหนี้มาก  ซึ่งผู้นำในการชักชวนคนให้มาร่วมชุมนุมก็รู้ถึงปัญหานี้ดี จึงได้อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อแบบเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์เคยใช้  ในการสร้างความหวังให้แก่ผู้เข้ามาร่วมชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง  และใช้จิตวิทยาทางการเมืองสร้างภาพการต่อสู้ให้เป็นการต่อสู้ระหว่างไพร่กับอำมาตย์    นี่ยังดีที่ยังไม่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างศักดินาชนชั้นทางสังคม  ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมไทยด้วยซ้ำ  แต่ก็เริ่มมีการกล่าวถึงบ้างแล้วในระหว่างการปราศรัยชุมนุมของผู้นำชุมนุมบางคน

       แนวความคิดของผู้นำรัฐบาลหรือเหล่าทัพบางคน  อาจคิดว่าการสลายการชุมนุมจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้  เป็นแนวคิดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  เพราะเป็นการมองปัญหาแบบภูเขาน้ำแข็ง  คือเห็นเพียงส่วนที่โผล่ลอยน้ำขึ้นมา  แต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดล้วนอยู่ใต้น้ำ  หากจะคิดย้อนหลังมองประวัติศาสตร์ไทยด้วยแล้ว  แทบไม่น่าเชื่อว่ากงล้อประวัติศาสตร์ได้หมุนกลับมาครบรอบอีกครั้ง  เพียงแต่วันเวลาและสถานที่ตลอดจนตัวละครได้เปลี่ยนไป  ประชาชนนิสิตนักศึกษาที่เคยถูกล้อมปราบในเหตุการณ์นองเลือดหกตุลา  เพราะคนไทยจำนวนมากในเวลานั้นเชื่อว่า พวกเขาคือคอมมิวนิสต์และมีทหารชาวณวนอยู่ร่วมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้กระทั่งมีอาวุธอยู่ภายในมหาวิทยาลัย  โดยการปลุกปั่นของสถานีวิทยุและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง  และคนที่เป็นพระคนหนึ่งที่ออกมาเทศนาว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ดังนั้นจึงสมควรแล้วที่จะถูกปราบปราม  ในวันนั้นมีผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิต นักศึกษาบางคนถูกนำศพไปแขวนคอใต้ต้นมะขามโดยมีคนไทยจำนวนมากโห่ร้องดีใจอยู่รอบสนามหลวง

                ปัญหาเวลานี้  จึงไม่น่าจะเป็นเพียงปัญหาทางการเมืองที่ต่างขั้วทางกลุ่มผลประโยชน์  แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นถึงแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในการแก้วิกฤตและนำพาเศรษฐกิจของไทย คล้ายๆ กับความขัดแย้งระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมแฝงอยู่ด้วย  เพราะคนที่ชอบนโยบายตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย  ก็ยังเชื่อมั่นและอยากให้ใช้นโยบายและผู้นำแบบนั้นอยู่  โดยไม่มองว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและตัดสินคดีอะไรมาอย่างไร เพราะอะไร    กลายเป็นความเชื่อและศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อผู้นำในดวงใจของเขา และมีคนจำนวนนับแสนนับล้านที่เชื่อมั่นในนโยบายที่ผ่านมาของคุณทักษิณ  อย่างไม่มีทางที่จะเปลี่ยนความเชื่อหรือแนวคิดของเขาได้เลย สำหรับฝ่ายที่ต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็เริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ  ทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเดือดร้อนหรือเริ่มเบื่อหน่ายข่าวการชุมนุม  ซึ่งเป็นข่าวทุกวันทุกเวลาแบบเดียวกับก่อนเกิดเหตุการณ์หกตุลา  จนทำให้มีคนจำนวนหนึ่งอยากให้ขบวนการนักศึกษาล้มหายตายจากไปจากประเทศไทย 

ผมได้แต่ภาวนาอย่าให้คนไทยวันนี้คิดต่อคนเสื้อแดงแบบเดียวกับคนไทยเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา  มิฉะนั้นแล้ว  จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง  ณ วันนี้  เป็นวันที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาลเช่นเดียวกันกับเมื่อตอนเกิดเหตุการณ์หกตุลา เพียงแต่ชื่อนายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนไป  และกลุ่มกระทิงแดงก็เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มเสื้อแดง ผู้คนในสังคมไทยก็ได้แบ่งเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ อย่างชัดเจน โดยที่ไม่ฟังเหตุผลและข้อเท็จจริงของอีกฝ่ายหนึ่ง  เช่นเดียวกับฝ่ายนักศึกษาและฝ่ายต่อต้านนักศึกษาในเวลานั้น  ผมจึงขอเรียกร้องวิงวอนให้ท่านนายกรัฐมนตรี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการชุมนุม  อย่ายึดมั่นในผลประโยชน์ของคณะผู้ร่วมเป็นรัฐบาล  ขอให้ตัดสินใจโดยความรอบคอบปราศจากอคติ  มองโลกและมองคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามในแง่ดีขึ้น ป้องกันภัยจากมือที่สามอย่างเต็มความสามารถ  มิฉะนั้นแล้ว  พฤษภานี้ก็จะเป็นพฤษภาทมิฬอีกครั้งสำหรับประเทศไทย  แล้วความขัดแย้งอันเนื่องมาจากแนวคิดที่ต่างกันทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งนี้ ก็จะนำไปสู่การห้ำหั่นกันเองในหมู่ประชาชนเฉกเช่นสงครามกลางเมืองในรวันดา



1 ความคิดเห็น:

  1. เหตุผลที่คนไทยรักในหลวง
    มีมากมายเกินกว่าจะบรรยายแต่ถ้าจะให้พูดสั้นก็ น่าจะเป็นเพราะพระองค์ท่านทรงเป็นผู้ให้ "ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก" และทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดยาก ที่จะหาบุคคลใดเทียบได้ โดยเฉพาะทรงมีทศพิธราชธรรม
    ในการปกครองอาณาประชาราษฎร์ ดังพระราชดำรัสที่ทรงตรัสว่า…
    "เราจะครองแผ่นโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแด่มหาชนชาวสยาม”
    ขอเป็นข้าพระบาททุกชาติไป /ข้าราชการโรงเรียเสนาธิการทหารบก

    ตอบลบ