วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความขัดแย้งทางศาสนาและแนวทางแก้ไข


เรื่องที่ 6    ความขัดแย้งทางศาสนาและแนวทางแก้ไข

ทำไมต้องมีศาสนา

                    ในปัจจุบัน  มีคนกล่าวกันมากมาย  ว่าศาสนาไม่จำเป็นสำหรับชีวิตเนื่องด้วยปัจจุบันมีสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์มากมายไม่ว่าจะเป็นทางชีววิทยาก็ดี ทางสังคม เช่นอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เทคโนโลยี มนุษย์จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งศาสนาอีกต่อไป แต่ความจริงแล้ว โดยทั่วไปแล้วคนกับศาสนาไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมชนิดหนึ่ง  ถ้าเทียบกับธรรมชาติแล้วเป็นเพียงสัตว์ตัวนิดเดียว  ไม่สามารถจะสู้รบตบมือกับพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้ เช่นแผ่นดินไหว  พายุใหญ่  น้ำท่วม  โรคระบาด  มนุษย์จะรู้สึกว่าตนไร้ความหมาย  พึ่งตนเองก็ไม่ได้  พึ่งกันเองก็ไม่ได้  มนุษย์จึงมองหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตอบสนองความต้องการของตนเอง  ที่เชื่อว่ามีอำนาจเหนือกฎธรรมชาติ  และสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจได้  และศาสนาคือที่พึ่งที่ดีที่สุด  สำหรับมนุษย์  เป็นที่ให้ความหวัง และกำลังใจ ในการต่อสู้กับความโหดร้ายของพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ประเภทของศาสนา

                    แต่อย่างไรก็ดี  ศาสนาในโลกนี้ก็มีมากมาย  โดยมีศาสนาหลักที่คนเรารู้จักจำนวนมากเช่น  คริสต์ อิสลาม ฮินดู  พุทธ ฯ แต่ละศาสนาก็มีความแตกต่างกันอีกมากมายหลายด้านแต่นักปราชญ์ทางศาสนาได้สรุปศาสนาในโลกไว้  2  ประการดังนี้  คือ
                    1.  ศาสนาเทวนิยม (Theism )  คือศาสนาที่มีเทพเจ้า นับถือบูชาพระเจ้า   หรือเทวดาคือสิ่งสูงสุด  บางศาสนามีเทพเจ้าหลายองค์ มนุษย์จะต้องอ้อนวอน  บูชาบวงสรวง  ทำให้เทพเจ้าพอใจจึงจะเกิดผลสำเร็จแก่ตนเองได้ เช่นพระพรหม พระศิวะ  พระนารายณ์ คือ  ฮินดู  บางศาสนามีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวคือ  ยูดาย คริสต์  อิสลาม ที่มีความเชื่อขั้นมูลฐานอยู่ว่า  ในเอกภพนี้มีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เพียงองค์เดียวที่เป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง  พร้อมกับดูแลสรรพสิ่งบนโลกและสามารถที่จะรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ดังมีพระคัมภีร์ในศาสนาคริสต์กล่าวว่า แม้แต่นกกระจอกตัวน้อยตกลงมาตายก็ไม่รอดจากสายตาของพระองค์ มนุษย์ที่มีปัญญาเพียงกระจิดริดจะรู้อะไรที่ลึกซึ้งทางศาสนาได้ จะรู้ได้ต้องอาศัยความกรุณาจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นจึงจะรู้ได้
                    2.  ศาสนาอเทวนิยม (Atheism)  คือศาสนาที่ไม่นับถือเทพเจ้าว่าเป็นสิ่งสูงสุด ไม่ส่งเสริมการอ้อนวอน  บวงสรวง บนบานแก่เทพเจ้า  และไม่เชื่อว่าเทพเจ้ามีจริง  อันได้แก่ ศาสนาพุทธ และ ศาสนาเชน  โดยมีหลักความเชื่ออยู่ว่า  ความจริงทุกระดับทุกชนิดมีอยู่โดยตัวของมันเองตามธรรมชาติ  ไม่มีเทพเจ้าผู้สร้าง เทพเจ้าผู้ทำลาย  เทพเจ้าผู้รักษา แต่สรรพสิ่งความดีความชั่วอยู่ที่การกระทำของมนุษย์เอง มนุษย์จะอยู่รอดต้องอยู่ในกฎของเหตุ  และ ผล เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง

ความแตกต่างทางศาสนาบางประการอันเป็นที่มาแห่งความขัดแย้ง.
                    ศาสนาทุกศาสนาสอนให้มนุษย์รักกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างสงบ  ไม่ให้เบียดเบียนกัน  ศาสนาคริสต์สอนให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง  ศาสนาพุทธสอนให้ รักทุกคนดุจแม่รักลูกน้อยของตนเพราะความรักเมตตาคือธรรมค้ำจุนโลกและสังคม  ศาสนาอิสลามสอนว่า จงอย่ากินอิ่มแล้วปล่อยให้เพื่อนบ้านหิวโหย 
                    แต่ทั้ง ๆ ที่ศาสนาสอนให้รักกัน  แต่ก็ยังมีศาสนิกของศาสนาต่าง ๆ กลับเกลียดชังกัน  สงสัยหวาดระแวง ด่าประณามซึ่งกันและกัน ในที่สุดก็นำไปสู่การเบียดเบียนเข่นฆ่ากันในนามของศาสนา  เบียดเบียน เข่นฆ่าเพื่อพระเจ้าของตน แม้แต่ในศาสนาเดียวกันก็ยังมีความขัดแย้งกันเอง  ปัญหาคนเกลียดกันเพราะศาสนา เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วและเป็นปัญหาของนักศาสนศาสตร์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น  สงครามศาสนาบางแห่งแม้จะยุติไปแล้ว  แต่ในปัจจุบันหาได้ยุติอย่างสิ้นเชิงไม่ โดยความขัดแย้งอาจจะมาจากหลายสาเหตุแต่จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของศาสนาต่าง ๆ เราจะพบความจริงว่าไม่มีศาสนาใดในโลกนี้ที่ไม่มีการแตกแยกนิกายเป็นลัทธินิกายต่าง ๆ โดยมีเหตุผลหลายประการดังนี้
                    1. ความแตกต่างทางพิธีกรรม  เนื่องด้วยพิธีกรรมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของศาสนาทุกศาสนาต้องมีพิธีกรรมแต่ก็มีความแตกต่างทางพิธีกรรมที่  อีกศาสนาหนึ่งส่งเสริม  อีกศาสนาหนึ่งคัดค้าน  เช่นศาสนาฮินดูในยุคสมัยเดียวกันกับพระพุทธองค์ส่งเสริมการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ  แต่พระพุทธศาสนากลับเห็นขัดแย้งกันว่าการฆ่าสัตว์บูชายัญไม่มีผลต่อผู้กระทำพิธีบูชายัญ  มีแต่จะทำให้เกิดการฆ่ามากขึ้น  หรือชาวพุทธมีพุทธรูปเป็นรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้า    แต่สำหรับชาวมุสลิม  ห้ามมีรูปเคารพใด ๆไว้บูชาแทนพระผู้เป็นเจ้าดังที่เกิดเหตุการณ์ในอัฟกานิสถาน  ใช้ปืนยิงพระพุทธรูปที่มีอายุพันกว่าปี ให้แตกสลายและแพร่ภาพทางโทรทัศน์ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกโศกาดูรอย่างยิ่งโดยเฉพาะชาวพุทธที่มิเคยไปทำร้ายน้ำใจคนอัฟกานิสถานเลย
                    2. ความแตกต่างทางความเชื่อ  แน่นอนที่สุดความเชื่อเป็นสิ่งที่ทำให้คนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขหรือขัดแย้งกันได้ในเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเช่นความเชื่อของคาทอลิก  เชื่อว่าพระสันตะปาปาเป็นผู้แทนพระเจ้าในโลกมนุษย์คำสั่งของสันตะปาปาคือคำสั่งของพระเจ้า  แต่ชาวโปเตสแตนท์ กลับรับไม่ได้และยอมรับไม่ได้ หรือความแตกต่างของชาวพุทธเชื่อว่าการจุดธูปเทียนบูชาพระและการเจริญวิปัสสนาเป็นมงคลต่างกับชาวคริสต์บางกลุ่มกลับเชื่อว่านั่นคือสาเหตุที่เปิดช่องทางให้ผีเข้าได้
                    3.  ความแตกต่างทางเชื้อชาติและผิวพรรณ  ความแตกต่างทางเชื้อชาติและผิวพรรณเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์  เช่นคนผิวขาวมองคนผิวดำเป็นเพียงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแรงงาน  ไม่ได้เป็นคนเป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่ง  หรือการแบ่งชนชั้นทางสังคมเช่นระบบวรรณะในอินเดียแม้โดยนิตินัยจะหมดไปแต่โดยพฤตินัยก็ยังคงมีอยู่  การการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวยิวในเยอรมันในสมัยของอะดอฟฮิตเลอร์ก็ดี หรือสมาคม คู คลักซ์ แคลน ที่มีในยุโรปที่ดูถูกคนผิวดำโดยใช้ศาสนาเป็นตัวนำหน้าเหมือนกัน
                    4. ความแตกต่างทางด้านคำสอน  คำสอนอันเป็นหลักการประพฤติปฏิบัติ  เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ในชุมชนนั้น ๆ เช่นพระเยซู  ได้ถือกำเนิดในดินแดนปาเลสไตน์ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงโรม  ได้ปฏิวัติคำสอนของชาวโรมจากที่มีเทพเจ้า ที่มีมากมายมีเทพประจำวัน  ประจำแม่น้ำ เจ้าที่ ฯ แต่พระองค์กลับ ประกาศศาสนาว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวในโลกคือพระยะโฮวา  อันเป็นการขัดคำสอนของคนในยุคนั้นอย่างเด่นชัดหรือพระพุทธศาสนาที่ปฏิเสธพระเจ้าถือว่าเป็นซาตานโดยอัตโนมัติ
                    5. การนำศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง ผู้นำที่นำศาสนาเข้าสู่สนามรบมักจะทำให้ทหารหรือประชาชนที่ไม่มีความรู้ทางศาสนาอย่างกระจ่างจริง จึงตกเป็นทาสของผู้นำที่ใช้ศาสนาบังหน้าเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนได้โดยง่าย หรือการเกรงกลัวการก่อกบฎที่มีสมาชิกทางศาสนาเป็นผู้นำดังเช่นรัฐบาลโรม  เกรงว่าการที่พระเยซูประกาศศาสนาใหม่และประสบความสำเร็จ จะเห็นได้ว่าองค์กรทางศาสนาใด ๆ ถ้ามีผู้คนนับถือมากขึ้น  จะถูกเล่นงานจากทางรัฐไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเช่นพระเยซูถูกจับตรึงไม้กางเขน  หรือลัทธิฝ่าหลุนกงก็ดี ที่รัฐบาลจีนสั่งระงับ ท่านมหาตมคานธี  ได้กล่าวไว้ว่าการเมืองที่ปราศจากหลักธรรมเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด
                    6.  การตีความหมายของคำสอนผิดเพี้ยนไปจากเดิม  คำสอนทางศาสนาของศาสดาก็ดี  หรือสารจากพระผู้เป็นเจ้าก็ดี  กว่าจะมาถึงยุคปัจจุบัน  ก็มีความหมายผิดเพี้ยนไปมากเช่นพระพุทธศาสนา สองนิกาย คือมหายาน  และเถราวาท ที่มีการตีความหมายของหลักสูงสุดทางศาสนาคือพระนิพพานไปคนละด้านมหายานเชื่อว่าพระนิพพานคือดินแดนพุทธเกษตร หรือดินแดนสุขาวดี มีพระพุทธเจ้า  และพระอรหันต์องค์ต่าง ๆ สถิตย์อยู่ที่นั่น มีความสุขนิรันดร์  ส่วนฝ่ายเถราวาทเชื่อว่าพระนิพพานคือ  สภาวะสิ้นกิเลสไม่มีไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ  คอยเผารนจิตใจ คือความดับทุกข์ ไม่มีเกิดอีกแล้ว
                    7.  ผลประโยชน์มหาศาลที่มาพร้อมกับความเลื่อมใสทางศาสนา  ของสาธุชนในเมื่อศาสนา มีศาสนิกผู้ที่ให้ความเลื่อมใสย่อมมีการบริจาคทรัพย์สินมีผลประโยชน์และขัดแย้งผลประโยชน์กันเอง  ที่ใดมีผลประโยชน์  ที่นั่นย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ
                    8.  การไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของศาสนาอื่นที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน  ในสังคมไทยของเรามีความหลากหลายทางศาสนาไม่ว่าจะเป็น ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ชาวพุทธ  ถ้าไม่เปิดใจกว้างไม่ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน  สิ่งเดียวที่จะเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนาและไม่ยอมรับความคิดเห็นกันคือ  ความแตกแยก ความขัดแย้ง
                    9.  พวกที่คลั่งศาสนาแต่ไม่เคร่งศาสนา  คนเหล่านี้เป็นคนที่อันตรายมากเนื่องด้วยคนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยมีความรู้ทางศาสนาแท้จริง  แต่มีความนับถือศาสนามากถึงกับต้องใช้คำว่าคลั่งคือคุยกันด้วยเหตุผลไม่ได้ มักจะถูกหลอกใช้     เป็นเครื่องมือจากผู้ที่อ้างนามหรือเอ่ยนามพระผู้เป็นเจ้าหรือศาสนาอยู่เสมอ

แนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางศาสนา
                    จากเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเป็นที่มาแห่งความขัดแย้งทางศาสนา ล้วนแต่มาจากการศึกษาศาสนาที่ไม่ถ่องแท้ นักการศาสนาควรจะมองเห็นความสำคัญของการศึกษาศาสนาอย่างจริงจัง  และหาแนวทางป้องกันความขัดแย้งทางศาสนาอันจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างหลายประการโดยมีวิธีที่พอจะหาแนวทางป้องกันความขัดแย้งทางศาสนาได้ดังนี้
                    1.  ไม่ศึกษาและนับถือศาสนาด้วยความลำเอียง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราศึกษาศาสนาโดยมีอคติเข้าไปเกี่ยวข้องย่อมจะไม่เห็นแก่นแท้ของศาสนานั้น ๆ  อคติในที่นี้คือ 
1.             ฉันทาคติ  ความลำเอียงเพราะชอบ  เข้าข้างศาสนาตัวเอง
2.             โทสาคติ  ความลำเอียงเพราะไม่ชอบ  มองเขาในแง่ไม่ดี
3.             โมหาคติ  ความลำเอียงเพราะความไม่รู้  มีแต่ความเชื่อย่างเดียวขาดปัญญา
4.             ภยาคติ    ความลำเอียงเพราะความกลัวขาดการไตร่ตรองที่ดี
                    ทุกศาสนาล้วนสอนให้คนเป็นคนดี  คำว่า มุสลิม แปลว่า ผู้รักสันติหรือผู้นำสันติมาใช้ในการดำเนินชีวิต  คริสต์ศาสนาก็เช่นกันก็เป็นผู้รักสันติ  ไม่ต้องการการมีเรื่องกับใครดังคำที่ว่า เมื่อเขาตบแก้มขวา  จงเอียงแก้มซ้ายให้เขาตบอีกข้างแต่อย่างไรก็ดีถ้าเราศึกษาจริยธรรมขั้นพื้นฐานของแต่ละศาสนาจะเห็นได้ว่าแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลยดังเช่น  บัญญัติ 10 ประการกับศีล 5  เป็นสิ่งไปด้วยกันได้ เป็นหลักประกันได้เป็นอย่างดีดังนี้
                ศีลข้อ 1  ห้ามเบียดเบียน ฆ่าสัตว์                                                     เป็นหลักประกันชีวิต
                ศีลข้อ 2  ห้ามลักขโมยของที่เจ้าของเขาไม่อนุญาต                     เป็นหลักประกันทรัพย์สิน
                ศีลข้อ 3  ห้ามประพฤติผิดในกาม                                                    เป็นหลักประกันความสามัคคี
                ศีลข้อ 4  ห้ามพูดปด กล่าวเท็จ                                                         เป็นหลักประกันศักดิ์ศรี
                ศีลข้อ 5 ห้ามดื่มสุรายาเสพติด                                                          เป็นหลักประกันสุขภาพ
โดยจริยธรรมขั้นพื้นฐานแล้วจะสามารถโยงหากันได้เป็นอย่างดี.
                    2.   ศึกษาศาสนาเพื่อรู้และเข้าใจความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก  แน่นอนที่สุดทุกศาสนามีความแตกต่างกัน ทางด้านพิธีกรรมก็ดี ทางด้านคำสอน  แต่ถ้าเราศึกษาเพื่อความเข้าใจและถึงแม้เราจะเห็นความแตกต่าง  แต่เราไม่แสดงความแตกแยก  ในความต่างย่อมมีความเหมือนอยู่เสมอ  เพราะที่สุดของคนเราก็คือ  ต้องการความสุข  รังเกียจทุกข์ไม่ต้องการให้ใครดูถูกตัวเอง  ดูถูกศาสนาที่ตัวเองเคารพ  แม้กระทั่งในสนามรบก็ให้ความเคารพกับศาสนาอื่นเช่นบัญญัติในการรบของผู้ที่ได้รับชัยชนะชาวมุสลิมเขียนไว้ว่า จะต้องไม่เบียดเบียนพระหรือนักบวชในศาสนาอื่นใดก็ตาม  และจะต้องไม่ทำลายศาสนสถานของศาสนาอื่น  ขอเราท่านทั้งหลายอย่าได้คิดแม้แต่น้อยเลยว่า  หากเราศึกษาศาสนาของผู้อื่นแล้ว  จะทำให้เราเสื่อมความเชื่อในศาสนาของเรา  แต่นั่นคือการเปิดกว้างสำหรับการยอมสิ่งที่มีอยู่จริงอีกมิติหนึ่ง ผู้ใดที่เข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนเองได้  ผู้นั้นย่อมจะเข้าถึงหัวใจของศาสนาอื่นได้เช่นเดียวกัน
                    3.  จัดตั้งโครงการเพื่อศาสนสัมพันธ์  เพื่อความเข้าใจอันดีขึ้น  ในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนา  อาจจะให้มีการประชุมทางศาสนาทุก 1 เดือน  มีการเชิญวิทยากรของแต่ละศาสนามาอภิปรายหรือบรรยายในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อความสามัคคีเราสามารถที่จะอยู่รวมกันได้อย่างสันติ  อาจจะช่วยลดภาพลักษณ์บางศาสนาที่คนอื่นมองในแง่ไม่ดีให้มองในแง่ดีได้มากขึ้น นักปราชญ์ทางศาสนาบางท่านยังมีโครงการที่จะรวมศาสนาในโลกเป็นศาสนาสากล  แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ศาสนาก็เป็นเพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและได้รับการดัดแปลงแก้ไขจากปัญญาของมนุษย์  เพื่อตอบสนองความต้องการศาสนาจึงมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน  เป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์  โดยมนุษย์  เพื่อมนุษย์
                    4.   ให้เกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน  ไม่แบ่งแยกผิวพรรณวรรณะ  เพราะคนที่แบ่งแยกผิวพรรณ  เรื่องของเชื้อชาติ  แต่ความจริงศักยภาพความเป็นคนของเราไม่ได้อยู่ที่ผิวพรรณหรือเชื้อชาติ  แต่อยู่ที่การกระทำและเจตนาที่แสดงออกมา  นั่นแหละคือความสามารถที่แท้จริงของเขา ไม่เหยียดหยามกันเพราะศาสนา ใครจะเกิดในตระกูลต่ำสูงอย่างไรก็ตามถ้าทำดีก็เป็นคนดี  ถ้าทำความชั่วก็เป็นคนชั่ว ดังในสุนทริกสูตร ว่า ไฟย่อมเกิดได้จากไม้ทุกชนิด  ผู้รู้แม้เกิดในตระกูลต่ำ  แต่เป็นผู้มีความพากเพียร เป็นผู้กันความชั่วด้วยความละอาย มีสัตย์ ฝึกตน ก็เป็นคนอาชาไนยได้
                    5.  ยอมรับข้อดีของแต่ละศาสนา  คือเรามองกันในแง่ดี  พิจารณาข้อที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ร่วมกันจรรโลงสังคม  เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะมามัวทะเลาะกันเรื่องศาสนา  แต่เราทุกศาสนาควรจะมองถึงปัญหาสังคมมีอยู่ในปัจจุบัน เช่นปัญหายาเสพติด อันเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นคงทุกสถาบันในสังคมทำอย่างไรจะนำหลักธรรมทางศาสนามาปลดปล่อยให้เยาวชนของเราที่ตกเป็นทาสยาเสพติดได้  ทั้งฝ่ายเทวนิยมและอเทวนิยมโดยมีหลักอยู่ 4 ประการคือ
-                   มีความจริงใจไมตรีจิตจะให้สัตว์ทั้งปวงมีสุขถ้วนหน้า
-                   มีความเอ็นดูสงสารและความตั้งใจจริงที่จะช่วยให้พ้นทุกข์
-                   พลอยยินดีและร่วมเป็นแรงกายแรงใจ ไม่อิจฉาริษยากัน
-                   วางใจเป็นกลางในการทำงานร่วมกัน
                    6.  เผยแผ่ศาสนาอย่างถูกต้อง  คือไม่ไปแย่งชิงศาสนิกของศาสนาอื่น  โดยวิธีการบังคับ ขู่เข็ญ และแบบมีเล่ห์เพทุบายก็หมายความว่าศาสนาที่เสียศาสนิกไปย่อมเกิดความไม่พอใจ  แต่ควรชี้ให้เขาเห็นข้อดีของศาสนาของเราจริง ๆ   แต่ถ้าเป็นการเผยแผ่โดยเอาผลประโยชน์ทางการศึกษา  ทางเศรษฐกิจ  ทางสังคมเข้ามาเป็นเหยื่อล่อก่อนไม่ควรกระทำเพราะไม่ใช่การประกาศอย่างตรงไปตรงมา  แต่เป็นการใช้เหยื่อล่อเหมือนล่อปลามาติดเบ็ด  เท่ากับเป็นการหลอกลวงโดยตรง
                    7.  ศาสนาเปรียบกับต้นไม้  ตามแนวของท่านศ.ดร.แสง  จันทร์งาม  ธรรมดาต้นไม้ย่อมมีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ
ราก         เปรียบเหมือน      ความเป็นมนุษย์
                                ลำต้น     เปรียบเหมือน      ความต้องการทางจิตวิญญาณ 5 ประการคือ  ปรัชญา
                                                ชีวิต  ที่พึ่งอันประเสริฐ สิ่งสมบูรณ์ที่สุด  ความดีและความสุขชั้นสูง
                                กิ่ง           เปรียบเหมือน      ศาสนาต่าง ๆ
                                นกทั้งหลาย          เปรียบเหมือน      ศาสนิกชน
                    ก่อนที่นกจะลงจับต้นไม้นั้น  มันจะต้องพิจารณาดูเสียก่อนว่ากิ่งไหนจะเหมาะสมขนาดตัวของมันนกตัวใหญ่จะจับที่กิ่งใหญ่  นกขนาดกลางจับกิ่งขนาดกลาง  นกตัวน้อยจะจับกิ่งขนาดเล็ก นกตัวใหญ่จะไม่เกิดความหยิ่งผยองในกิ่งใหญ่ของตน  และจะไม่หันไปดูถูกกิ่งเล็กของนกตัวอื่น  เพราะมันรู้ดีว่าไม่ว่าจะกิ่งใหญ่หรือเล็ก  ก็ล้วนมาจากลำต้นเดียวกัน  เป็นต้นไม้ต้นเดียวกันให้ประโยชน์ที่สำเร็จแก่นกทุกตัวอย่างเท่าเทียมกัน มันก็จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

      โลกทั้งผองพี่น้องกัน

แม้แตกต่าง           ศาสนา                   สามัคคี
                                                ดังน้องพี่               มวลมิตร                จิตรแจ่มใส
                                                ขอก้าวไป              มอบดวงใจ             ให้ห่วงใย
                                                ร่วมสร้างไทย       ให้มีธรรม                ค้ำชูชน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น